วันพฤหัสบดีที่ 4 มิถุนายน พ.ศ. 2552

"วันนี้ของพรุ่งนี้"

การเดินทางไปแม่สอดครั้งนี้ทำให้ได้เรียนรู้อะไรหลายสิ่งอย่าง ไม่ว่าจะได้เรียนรู้จักกับ "เพื่อนใหม่" ร่วมการเดินทางหลายๆคน ได้เรียนรู้กับ "ผู้คน" ที่เราไปใช้เวลาในการสนทนาเกี่ยวกับชีวิตและการทำงานของพวกเขาในพื้นที่ "ชายแดน" ยิ่งทำให้เราตระหนักว่า "พื้นที่ชายแดน" และ "คนชายแดน" มีความเป็น "พิเศษ" และ "ความอ่อนไหว" ยิ่งนัก การอาศัยอยู่ใน "เมืองส่วนกลาง" วิถีชีวิตของเราจึงไม่ค่อยรับรู้ถึง "ลักษณะอื่น" ที่ไกลออกไปรวมทั้งยังมีความเข้าใจความหลากหลายน้อยลงเรื่อยๆ

ตั้งแต่เริ่มต้นทริปที่ "ค่ายพักพิงชั่วคราว แม่หละ" เราได้เห็นอีกโลกหนึ่งที่เพื่อนมนุษย์อาศัยอยู่ ชีวิตที่ต้องถูกจำกัดบริเวณ จำกัดเสรีภาพ จำกัดโอกาส จำกัดคุณภาพชีวิต เนื่องมาจากการเป็น "ผู้อพยพพลัดถิ่น" จากความขัดแย้งทางการเมืองในประเทศพม่า สิ่งที่พวกเขาต้องการที่สุด คือการได้กลับ "บ้าน" และการได้มีเสรีภาพอย่างเต็มที่ในการดำเนินชีวิตปกติ ขณะนั่งฟังการสนทนา เราเห็นความหมายของการมีชีวิตอยู่ที่ง่ายงามที่สุดของเขา ไม่มีอะไรซับซ้อนมากไปกว่า ความหวังและความฝัน ของการได้ชีวิตที่ปกติกลับคืนมา เราเองยิ่งสะท้อนใจกับหลายๆครั้งที่มักจะพาชีวิตตัวเองให้ซับซ้อนเกินไป ยากเกินไป ติดกับมายาคติบางเกินไป จนหลงลืมความหมายที่แท้จริงของการมีชีวิตอยู่ การได้พบเพื่อนใหม่เหล่านี้จึงบันดาลใจให้ลดทอนมายาต่างๆที่เราเองสร้างขึ้นมาขอบเขตชึวิตปัจจุบัน และเห็นชัดเจนมากขึ้นว่าการมีชีวิตอยู่มันง่ายกว่าที่เราคิด

การได้เดินทางไปพบปะพูดคุยกับคนกลุ่มต่างๆในแม่สอด ทั้งครู ข้าราชการปกครองท้องถิ่น แพทย์ เอ็นจีโอ พ่อค้า ฯ ช่วยเราให้มองเห็นมิติที่สลับซับซ้อนของ "เมืองชายแดน" และเห็นความสำคัญขึ้นเรื่อยๆว่าเหตุใดเราจึงควรทำความเข้าใจอาณาบริเวณชายแดนของประเทศเราให้มากขึ้น เพราะนั่นเป็นช่องทางผ่านของ ผู้คนที่หลากหลาย ข้อมูล โรคภัยไข้เจ็บ ทรัพยากร ทุน ฯลฯ ก่อนที่จะทะลักเข้ามาสู่เมืองหลวงและแพร่กระจายไปยังส่วนต่างๆของประเทศ

การทำความเข้าใจกับความแตกต่างและหลากหลายของมนุษย์เป็นเรื่องยาก แต่คงหลีกเลี่ยงไม่ได้ ยิ่งการเดินทางครั้งนี้ ยิ่งเห็นมากขึ้นว่า เมื่อเราเปลี่ยนฐานของความคิดจากคนกล่มหนึ่งไปยังคนอีกกลุ่มหนึ่ง ความเชื่อ คุึณค่าของเราสามารถเปลี่ยนได้ทันที ยิ่งกว่านั้นยังมีความชอบธรรมด้วยซ้ำ นี่จึงเป็นความสลับซับซ้อนของการสร้างพื้นที่/ชุมชนของการอยู่อาศัยร่วมกันว่าเราจะทำอย่างไรที่จะประนีประนอมความแตกต่างหลากหลายนั้นได้หากเรายังต้องการสันติภาพของการอยู่ร่วมกัน

ขอบคุณอาจารย์เดชา ที่พาเราเดินทางทั้ง "ข้างนอก" และ "ข้างใน" แม้ว่าอาจารย์จะเหน็ดเหนื่อยกับการเตรียมการครั้งนี้มากเอาการ แต่พวกเรามีความสุขจริงๆกับการเดินทางครั้งนี้

ไม่มีความคิดเห็น: