วันพฤหัสบดีที่ 2 กรกฎาคม พ.ศ. 2552

เก็บตกจากงานสัมมนาอุดมศึกษาไทย

เมื่อวานไปฟังสัมมนาวิชาการระดับชาติอุดมศึกษาไทย จัดโดย สกอ. ที่อิมแพคอารีน่า เมืองทองธานี ตั้งใจไปฟังสองเวที คือ เรื่องอนาคตอุดมศึกษาไทย โดย ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช และอีกเวทีคือ การศึกษาที่สร้างพลเมืองโลก โดยสามคน คือ ดร.วุฒิพงษ์ เพรียบจริยวัฒน์ รศ.ดรอเนก เหล่าธรรมทัศน์ และ คุณวิกรม กรมดิษฐ์ โดยเฉพาะเวทีที่สองนี้มันส์มาก ทั้งสามคนมีมุมมองบางแง่ที่ต่างกันพอสมควรรวมทั้งบุคลิกในการแสดงแกก็ไม่เหมือนกัน แต่เรื่องนึงที่เหมือนกันนั่นคือความเผ็ดร้อนในเนื้อหาการแลกเปลี่ยนพูดคุย

สิ่งที่ได้เก็บมาจากเวทีแรกของหมอวิจารณ์ ซึ่งคิดว่าน่าสนใจและทำให้เราเองเกบมาขบคิดต่อคือ ลักษณะความรู้สองแบบ คือ knowledge creation (kc) และ knowledge translation (kt) สถาบันการศึกษาโดยทั่วไปสร้างความรู้และให้น้ำหนักความสำคัญกับความรู้ทั้งสองแบบแตกต่างกันออกไป สำหรับ kc คือความรู้ที่ถูกสร้างขึ้นมาด้วยความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ นั่นหมายความว่ากระบวนการสร้างความรู้แบบนี้ต้องส่งเสริมให้ผูเรียนมีความคิดริเริ่มและเข้าใจ+ทำเป็น ที่จะสร้างสรรค์ความรู้บางอย่างออกมา ส่วน kt คือความรู้ที่เกิดจากการดัดแปลง/ประยุกต์ / เปลี่ยนแปลง เพื่อนำไปใช้ในบริบทต่างๆ ซึ่งลักษณะนี้โดยเป็นรูปแบบที่สถาบันการศึกษาทั่วไปใช้อยู่ในการเรียนการสอน อย่างไรก็ตามความรู้ทั้งสองแบบมีความจำเป็นในบางลักษณะที่ต่างกัน แต่สังคมไทยอาจมีความรู้ในแบบแรกน้อยกว่าแบบสองค่อนข้างมาก ซึ่งมันมีความจำเป็นอย่างยิ่งต่อการพัฒนาสังคมเพื่อการเรียนรู้

เวทีที่สองเรืองการศึกษาเพื่อความเป็นพลเมืองโลกก็ดุเด็ดเผ็ดมันส์ เริ่มคนแรก ดร.วุฒิพงษ์ เสนอรูปแบบหลักของระบบการศึกษาไทยตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน และวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักถึงมหาวิทยาลัยต่างๆในปัจจุบันว่าพยายามที่จะสร้างผลกำไรมากเกินไปจนไม่ให้ความสำคัญกับคุณภาพการศึกษาและผู้เรียน ใช้ใบปริญญามาเป็นสินค้าหลักในการขาย และเสนอว่ามหาวิทยาลัยต่างๆควรเลิกที่จะพยายามตามแบบ Chula Syndrome เพราะมันอาจไม่ใช่ทางเลือกสุดท้ายที่ดีที่สุด ข้อเสนอที่น่าสนใจที่สุด (สำหรับเรา) คือ การสร้างระบบมหาวิทยาลัย University System ที่มีมาตรฐานและทรัพยากรที่เท่าเทียม+มีคุณภาพ แบบที่สามารถแลกเปลี่ยนทรัพยากรกันได้ ดังเช่นที่แคลิฟอเนีย ซึ่งมหาวิทยาลัยที่นั่นมีการแลกเปลี่ยนทรัพยากรบุคคลระหว่างกันรวมทั้งมีมาตรฐานมหาวิทยาลัยในรัฐที่ใกล้เคียงหรือเหมือนกัน ดร.วุฒิพงษ์จึงเสนอว่าบรรดามหาวิทยาลัยราชภัฏต่างๆประมมาณสี่สิบแห่งในประเทศไทยก็น่าจะปรับปรุงคุณภาพให้ Rajbhatr University System เพื่อให้เกิดมาตรฐานการศึกษาของแต่ละแห่งที่ดีขึ้นและตอบโจทย์การเรียนการสอนที่รับใช้พื้นที่นั้นๆได้อย่างแท้จริง

อาจารย์อเนก เสนอเรื่องการศึกษาที่ส่งเสริมให้คนเข้าใจท้องถิ่นของตัวเองอย่างคลอบคลุม หลากหลาย และลึกซึ้งยิ่งขึ้น ในขณะเดียวกันก็ต้องเข้าใจความเปลี่ยนแปลงของโลกอย่างบรู้เท่าทันด้วย เพื่อจะเชื่อมโยงความเป็นท้องถิ่นในบริบทโลกได้ซึ่งจำเป็นสำหรับการใช้ชีวิตและการเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาสังคม สำหรับคุณวิกรม กรมดิษฐ์ พูดในแง่มุมของผู้ซึ่งใช้บุคคลากรที่ผลิตออกจากสถาบันการศึกษา เขาเปรียบเทียบว่าบุคคลากรคนไทยยังเก่งสู้คนเวียดนามไม่ได้ และเวียดนามกำลังจะไปไกลกว่าเราอีกมากในอีก 5-10 ปีข้างหน้า ความสำคัญของคนมีผลอย่างยิ่งในภาคการผลิต/ภาคเศรษฐกิจ การที่ไทยยังไปไหนได้ไม่ไกลสำหรับเขาเงื่อนไขสำคัญก็มาจากคุณภาพคนทำงาน และมองว่ารัฐบาลไทยไม่เคยจริงจังต่อการพัฒนาการศึกษาหรือให้โอกาสทางการศึกษาอย่างจริงจัง ทั้งสามคนมองว่าการปฏิรูปการศึกษาที่ผ่านมาซึ่งกำลังจะครบสิบปีในเดือนสิงหาคมไม่ได้เปลี่ยนแปลงระบบการศึกษาไทยในเชิงคุณภาพที่ดีขึ้นแม้แต่น้อย มันเปลี่ยนแปลงแค่ระบบวิธีการโยกย้ายข้าราชการกระทรวงศึกษาธิการเท่านั้น

นั่งฟังทั้งหมดแล้วก็ทั้งรู้สึกอึ้งและเศร้าใจขึ้นมาเล็กน้อย ในฐานะที่เราเป็นจุดเล็กๆจุดนึงในระบบการศึกษาที่พยายามจะทำอะไรบางอย่างที่จะเปลี่ยนแปลง/ปรับปรุง ให้ผู้เรียนมีคุณภาพการเรียนรู้ที่ดีขึ้น+มีจิตสำนึกร่วมทางสังคม แต่ดูเหมือนเรายังต้องเดินทางอีกไกลมากกกกกกกกก...และยังต้องสู้กับระบบใหญ่ที่ก็ไม่ได้เอื้ออำนวยให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอะไรที่ดีขึ้นแม้แต่น้อย

ไม่มีความคิดเห็น: