วันศุกร์ที่ 12 มีนาคม พ.ศ. 2553
การเดินทางเพื่อพบกับอาจารย์(ในร้านคุกกี้)
อ่านหนังสือ "อาจารย์ในร้านคุกกี้" ของนิ้วกลม แล้วประทับใจในหลายๆข้อคิดที่เขียนในแต่ละบท โดยเฉพาะแต่ละเรื่องให้กำลังใจและแรงบันดาลใจที่ดีกับชีวิต
หากไล่เรียงจากการอ่านไป คิดถึงเรื่องแรกซึ่งเป็นเรื่องการ "เริ่มต้น" ทำอะไรสักอย่างแม้ว่าจะดูยากเย็นแต่เมื่อเริ่มได้แล้ว สิ่งที่ยากตามมาคือทำอย่างไรจะหล่อเลี้ยงไฟชีวิตให้ยืนยาวจนกระทั่งภารกิจนั้นๆสำเร็จได้ จากบทตอน"เวลาเข็นรถขึ้นภูเขา เราไม่ควรหยุดกลางทาง" จี คิงส์ลี วอร์ด ผู้เขียน สอนลูกให้ดี บอกไว้ว่า "คอยสังเกตได้แล้วว่าการเข็นรถขึ้นภูเขานั้นยากเพียงใดเมื่อจะเข็นก็ต้องเข็นให้ถึงยอดเนินเพราะถ้าปล่อยไว้กลางทางระจะไหลลงเนินไปอีกต้องเริ่มต้นกันใหม่มัวหยุดพักรีรอไม่ได้"
หลายๆบทในหนังสือเล่มนี้พูดถึงเรื่อง ความพยายาม ทัศนคติต่อความยากในการทำอะไรบางอย่าง การมุ่งมั่นต่อความฝันและความหวังในชีวิต ตอนหนึ่งที่ชอบ "คู่แข่ง ยิ่งเอาชนะได้ยากยิ่งดี" ซึ่งเล่าเรื่องชีวิตของกีฬาวิ่งร้ิอยเมตรซึ่งนับแต่อดีตมา คงไม่มีใครคาดคิดว่ามนุษย์เราจะสามารถวิ่งเข้าเส้นชัยร้อยเมตรด้วยเวลาที่ต่ำกว่า 10 วินาที แต่วันนี้ช่วงระยะเวลาสิบปีสถิติโลกในการแข่งวิ่งร้อยเมตรต่ำกว่า 10 วินาทีทั้งสิ้น และปัจจุบันยูเซียน โบลท์ นักวิ่งจากจาไมก้า เป็นเจ้าของสถิติโลกที่เวลา 9.69 วินาที เมื่อปี 2008 เขายังวิ่งด้วยเวลาอยู่ที่ 10.03 วินาทีอยู่เลยแต่หลังจากนั้นมาเขาก็ไต่ระดับเวลามาเรื่อยๆ ด้วยการเอาเวลาของเจ้าของสถิติโลกก่อนหน้านั้นเป็นที่ตั้งและพยายามทำลายสถิติเหล่านั้นมาเรื่อยๆจนในที่สุดก็เหลือเพียงแค่สถิติของตนเอง "ความเก่งของคนที่อยู่ข้างหน้า ความเก่งของคนที่วิ่งเร็วกว่าเราจึงเป็นเเหมือนขุมพลังที่จะทำให้เราได้พัฒนาศักยภาพให้ถึงขีดสุด"
อีกตอนหนึ่งที่ชอบเกี่ยวกับโจทย์อะไรสักเรื่องที่มันอยู่ในหัวเราตลอดเวลา เป็นส่วนหนึ่งของชีวิตซึ่งบางทีนั่งอยู่เฉยๆคิดเท่าไหร่ก็คิดไม่ออกแต่เมื่อได้เจอกับบางสถานการณ์ซึ่งแม้จะธรรมดา ไร้ความพิเศษใดๆ แต่กลับทำให้เราได้คำตอบของโจทย์นั้นในที่สุด ตอนนั้นคือ "จิตใจจดจ่อ จึงจะเจอะเจอ" พูดถึงชีวิตของ 2 คน ที่สร้างสรรค์นวัตกรรมที่มีคุณค่าให้โลกนี้ คนหนึ่งคือ เซอร์ไอแซก นิวตัน และ บิว บาวเวอร์แมน คนแรกนั้นเราเรียนกันตั้งแต่เด็กๆว่าเขาคือผู้ค้นพบแรงโน้มถ่วงของโลกจากเหตุการณ์นอนอยู่ใต้ต้นแอปเปิ้ล แต่ใครจะรู้ว่านิวตันไม่ได้แค่บังเอิญปิ๊งแวบขึ้นมาตอนนั้นเห็นลูกแอปเปิ้ลล่วงสู่พื้นเท่านั้น แต่เขาทำการทดลองนับพันครั้งและล้มเหลวมาแล้วไม่ถ้วน เขาเก็บโจทย์นั้นเอาไว้ตลอดเวลา ทุกลมหายใจ เมื่อวันหนึ่งตั้งคำถามว่าทำไมลูกแอปเปิ้ลถึงล่วงสู่พื้น เขาจึงทดลองด้วยการเอาเชือกผู้กับก้อนหินรอบเอว และแกว่งไปรอบๆ พอเห็นว่าหินหมุนรอบมือเขาโดยไม่ล่วง จึงสรุแว่าเชือกนี่เองที่ทำให้หินไม่หลุดไป ดังนั้นเหตุที่โลกและดาวเคราะห์อื่นๆต้องหมุนรอบดวงอาทิตย์และพระจันทร์ต้องหมุนรอบโลกต้องเกิดจากแรงดึงดูดที่ดวงอาทิตย์มีต่อโลกและโลกมีต่อดวงจันทร์แน่ๆ แรงดึงดูก็คือเชือกล่องหนนั่นเอง และการที่แอปเปิ้ลต้องตกลงสู่พื้นโลกก็เพราะแรงดึงดูดของโลกดูดลงมาเช่นกัน ! ส่วนเรื่องของ บิว บาวเวอร์แมน ผู้ก่อตั้งไนกี้ อดีตของเขาคือโค้ชกีฑาของทีมสหรัฐฯ แต่นอกจากฝึกฝนลูกศิษย์ของเขาให้วิ่งดีแล้ว โจทย์ที่อยู่ในหัวตลอดมาของเขาคือจะทำอย่างไรให้รองเท้าวิ่งนั้นช่วยให้การวิ่งดีที่สุดนั่นคือนำ้หนักเบาที่สุด ในเช้าวันธรรดาๆวันหนึ่ง เขาเกิดปิ๊งไอเดียที่จะนำเครื่องทำวาฟเฟิลของภรรยามาให้่เป็นแม่พิพม์ยางรองเท้าโดยจินตนาการว่าพื้นรองเืท้่าที่เป็นลวดลายตารางจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการยึดเกาะและช่วยให้เร่งความเร็วได้ดีกว่าพื้นรองเท้าอื่นๆที่สำคัญที่สุด "เบา" จากนั้นไม่นานรองเท้า ออริกอน วาฟเฟิล รุ่นแรกก็ออกสู่ตลาดและได้กลายเป็นนวัตกรรมปฏิวัติวงการกรีฑาด้วยคุณสมบัติที่เหนือกว่าทั้งน้ำหนักเบาและพื้นที่ยึดกับพื้นได้ดี ทั้งสองผู้ยิ่งใหญ่นี้ไม่ได้เกิดขึ้นจากความบังเอิญอย่างเดียว แต่มันคือการจดจ่อกับ "โจทย์" ของพวกเขาและ "กัดไม่ปล่อย" จนเมื่อได้เวลาและสถานที่ที่เหมาะเจาะ "คำตอบ" มันจึงมา
จากประสบการณ์ของคนอื่น หรือที่พบเจอเอง นิ้วกลมโยงความสัมพันธ์เหล่านั้นเขา้กับความคิดตัวเองได้เนียนจริง และทำให้เราคนอ่านรู้สึกว่าเรื่องเล็กเรื่องน้อยในีวิตของเราเองก็ดี ชีวิตคนอื่นก็ดีล้วนแต่มีความหมาย มีที่มาที่ไป เป็นจุดเชื่อมโยงหรือส่งผ่าน ให้เกิดเรื่องสำคัญๆของชีวิตได้ทั้งสิ้น การเข้าใจตัวเองและเข้าใจโลกต้องเกิดขึ้นควบคู่กันไป
สุดท้ายชอบอีกตอนหนึ่งในเรื่องพูดถึง "หลุม" ที่เราทุกคนอาจเจอในชีวิต ความหมายของหลุมที่นี้หมายถึงอุปสรรค ปัญหา อะไรก็ตามที่สร้างความทุกข์ให้กับตัวเรา ในตอน "ความผิดหวังคือบ่อเกิดพลังที่ดี" นิ้วกลมได้อ่านงานเขียนของมือใหม่คนหนึ่งชื่อหนังสือสั้นๆว่า "หลุม" เรื่องมีอยู่ว่า มีเด็กหญิงและเด็กชายคู่หนึ่งที่ทำความรู้จักและเล่นด้วยกันผ่านกรงรั้วที่กั้นขวางบ้านทั้งสองมานานจนวันหนึ่งเด็กหญิงพูดขึ้นว่า "ถ้าเราสองคนได้ข้ามไปเล่นฝั่งเดียวกันก็คงจะมีความสุขและสนุกกว่ายินคุยกันอย่างนี้" เด็กชายเห็นด้วยทั้งสองจึงช่วยกันขุดหลุม วันคืนผ่านไปเด็กชายยังตั้งใจไม่่ลดละ แม้ว่าเหนือยแต่ไม่ท้อเพราะรู้ว่ามีเด็กหญิงรออยู่อีกฝั่ง แต่ยิ่งขุดลึกลงไปเขาก็ยิ่งพบว่าเสียงอีกฝั่งหนึ่งหายไป สุดท้ายจึงตะโกนเรียกแต่เสียงที่ตอบกลับมากลับบอกว่า "ฉันเลิกเล่นแล้วนะ" เขาจึงได้เข้าใจว่ามีแต่ตัวเองเท่านั้นที่ขุดหลุมลงมาจนลึกขนาดนี้ อีกฝั่งหนึ่งไม่ได้จริงจังกับการขุดหลุมเพื่อที่จะเชื่อมทางเดินมาเจอกันเลยสักนิด เมืื่ออยากจะเลิกเล่นจึงเดินจากไปได้อย่างง่ายดาย ต่างจากเด็กชายที่แม้จะตะกุยตะกายเท่าไหร่ก็ไม่สามารถขึ้นจากหลุมนั้นได้เสียที เขาได้แต่นั่งเดียวดายอยู่ในนั้นและคิดได้ว่า"สิ่งที่โหดร้ายที่สุดในหลุมนี้ไม่ใช่ความเหงา ไม่ใช่ความหนาว ไม่ใช่ความสับสน หรือความเศร้า แต่มันคือความทรงจำดีๆต่างหากที่คอยดึงเขาไว้ไม่ให้ขึ้นจาก หลุม นี้ได้เสียที" นักเขียนมือสมัครเล่นคนนี้บอกเอาไว้ในหนังสือว่าสิ่งที่เขาค้นพบจากความผิดหวังในความรักเป็นเชื้อเพลิงอย่างดีที่กระตุ้นให้เขาทำอะไรบางอย่างที่ไม่คิดว่าจะทำได้ซึ่งสิ่งนั้นก็คือ การเขียนหนังสือ และวันนี้เขาก็ไม่ได้เป็นแค่มือสมัครเล่นอีกแล้ว หลุมเป็นหนังสือเล่มแรกของ "กองโต" ซึ่งขณะนี้ไปเขียนคอลัมน์ให้กับนิตยสารอะเดย์
ขอบคุณหนังสือและผู้เขียนที่สร้างกำลังใจและทัศนคติดีดีให้เพิ่มขึ้นในชีวิตของผู้อ่าน:)
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
2 ความคิดเห็น:
น่าอ่านจัง ไว้หามาอ่านบ้างดีกว่า
ขอบคุณมากคะ ได้ข้อคิดดีๆเยอะมากเลย ^^
แสดงความคิดเห็น